ชิปปิ้ง อุตสาหกรรมขนส่งสินค้า ที่เป็นที่คาดการณ์กันว่า จะเป็น 1 ในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนเมื่อเทคโนโลยี 5G เริ่มเปิดให้บริการในเมืองไทย
5G คือเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในเจนเนอเรชั่นที่ 5 มีศักยภาพและการทำงานที่มีประสิทธิภาพทั้งภาพและเสียงมากกว่า 4G ถึง 1,000 เท่า รองรับการใช้งานได้กว้างขวาง ไม่ใช่แค่เพียงในสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่เป็นการใช้งานที่ครอบคลุมถึงทุกสรรพสิ่ง
การพัฒนามาตรฐานสำหรับระบบ 5G ในเมืองไทยนั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อมในการเปิดใช้ภายในปี 2563
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 5G นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะการสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดย กสทช. คาดการณ์ไว้ว่า เมื่อมีการใช้เทคโนโลยี 5G ในเมืองไทยแล้ว จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ดังนี้
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์
จะมีการพัฒนาระบบและยกระดับการจัดการโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเชื่อมต่อเซ็นเซอร์เข้ากับอุปกรณ์จำนวนมาก อาทิ การเชื่อมต่อข้อมูลจำนวนมหาศาลระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ หรือยานพาหนะกับยานพาหนะด้วยกัน สามารถรับส่งข้อมูลในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และมีความหน่วงเวลาต่ำ ทำให้ลดข้อผิดพลาดต่างๆ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด
นอกจากนี้ การพัฒนาอายุการใช้งานแบตเตอรี่จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 ปี ส่งผลให้ต้นทุนในการใช้อุปกรณ์ลดลง อีกทั้งการนำเอาเทคโนโลยี 5G มาใช้ในธุรกิจชิปปิ้งและโลจิสติกส์ ส่งผลให้ทราบตำแหน่งยานพาหนะ (Fleet Management) สถานการณ์รับ-ส่งสินค้าที่แม่นยำ มีประสิทธิภาพ อันส่งผลให้การจัดการสินค้าคงคลังเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด แม่นยำและรวดเร็วขึ้นด้วย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 15 สถิติน่ารู้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์)
อุตสาหกรรมการผลิต
เทคโนโลยี 5G จะช่วยสนับสนุนให้กระบวนการควบคุมเครื่องจักรกับเครื่องจักรสามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ มีความยืดหยุ่น ลดต้นทุนแรงงาน รวมถึงความหน่วงเวลาต่ำ จึงลดความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต เพราะฉะนั้น ในอุตสาหกรรมการผลิต จึงมีแนวโน้มที่จะนำเอา 5G มาใช้กับการขนถ่ายสินค้าแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องคนขับ (Automated Guided Vehicle) ที่สามารถเคลื่อนที่ได้เป็นระยะทางมากกว่า 10 เมตรภายในระยะเวลา 1 วินาที
กระบวนการใช้งานเครื่องจักรจะเข้ามาทำงานแทนที่แรงงานมนุษย์ และการควบคุมด้วยหุ่นยนต์ ทำให้ยกระดับคุณภาพการทำงาน ควบคุมต้นทุนและระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง ลดปริมาณสินค้าคงคลัง เพิ่มคุณภาพของสินค้า เกิดความพึงพอใจและประสิทธิภาพการทำงานสูง (อ่่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 5 ข้อผิดพลาดของการให้บริการที่ส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีก)
ภาคสาธารณสุข
การใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคสาธารณสุขนั้น จะมีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการตรวจสัญญาณชีพจร ความดัน การประมวลผล เพื่อช่วยให้แพทย์ติดตามและเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยได้ ส่งผลให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนสามารถขอรับคำปรึกษาผ่านเทคโนโลยี AR ในระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ยังสามารถสนับสนุนการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ได้ด้วย เช่น การฝึกผ่าตัวจำลองโดยใส่ถุงมือที่มีเซ็นเซอร์ จับการเคลื่อนไหวของมือและทำการจำลองการผ่าตันเสมือนจริงได้โดยทันที
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดการณ์ไว้ว่า ในบ้านเราจะมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ภายในปี 2563 และจะใช้ต่อเนื่องไปอีก 15 ปี จึงจำเป็นต้องมีการทำสอบระบบ 5G อย่างมั่นใจเสียก่อน เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ
พัฒนาการของแต่ละเจนเนอเรชั่น
- 1G คุยกันด้วยเสียง
- 2G รองรับการส่งข้อความหากัน
- 3G เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทั่วไป
- 4G ดูภาพและเสียงได้ทั่วถึง
- 5G อินเตอร์เน็ตคือการเชื่อมต่อของทุกสรรพสิ่ง (IoT)
คุณสมบัติของเครือข่าย 5G
- ความเร็วสูงสุด 10 Gbps
- ใช้ระยะเวลาเชื่อมต่อไปยังปลายทางน้อยกว่า 0.001 วินาที
- มีความเสถียรในการใช้งาน 99.9999%
- ครอบคลุมทุกพื้นที่ 100%
- ใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยลง 90%
- อุปกรณ์ IoT พลังงานต่ำเมื่อใช้เชื่อมต่อกับแบต จะมีอายุการใช้งานถึง 10 ปี
อ้างอิงข้อมูล : กสทช.